ศิลปกรรมทางพระพุทธศาสนามีอะไรบ้าง ?

มารู้จัก ความหมายของศิลปะ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ภาพวาด วัฒนธรรม ประติมากรรมไทย ประติมากรรมนูนสูง ศิลปะลพบุรี ศิลปะศรีวิชัย และงานศิลปะแบบง่ายๆ ที่น่าสนใจ

ศิลปกรรมทางพระพุทธศาสนามีอะไรบ้าง ?

August 15, 2022 ศิลปะ 0

 

“ต้องบอกเลยว่าบ่อเกิดของศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นก็คือศาสนา เพราะคนเราเมื่อมีศรัทธาในศาสนาแล้วก็จะทุ่มเท อุทิศตน และต้องการที่จะให้สิ่งดีๆนั้นได้บังเกิดขึ้นกับศาสนาที่ตัวเองนั้นนับถือ  “

พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ

     

หากเอ่ยถึงในเรื่องของศิลปกรรมทางพระพุทธศาสนานั้น เราคงเคยสังเกตเห็นเวลาที่ได้ไปตามวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดจีน วัดไทย วัดญี่ปุ่น วัดพม่า ฯลฯ ลักษณะของพระพุทธรูปนั้นก็ต่างที่จะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป แต่เรานั้นก็ต่างที่จะดูออกว่านี้คือของพระพุทธศาสนา  เพราะมีลักษณะในบางประการที่ทำให้เราสามารถจะดูออกได้ว่านี้คือศิลปกรรม ที่ออกแบบและสร้างพระพุทธรูป ในรูปแบบของศาสนาพุทธ  ซึ่งมีลักษณะที่ได้สอดคล้องกับลักษณะของมหาบุรุษหลายอย่างร่วมกันอยู่นั้นก็คือ เส้นพระเกษาที่ขดเป็นก้นหอย ใบหูนั้นก็จะยาวออกมา พระเนตรเรียวยาวและโค้ง พระพักตร์มีความเมตตา เป็นต้น

ศิลปกรรมกับศาสนานั้นมีอยู่หลากหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบปั้น งานประติมากรรมต่างๆ หรือ ภาพวาด จิตรกรรมฝาผนัง ต่างก็ล้วนเป็นศิลปกรรมด้วยกันทั้งสิ้น

สำหรับในเรื่องการปั้นพระพุทธรูปนั้น เริ่มมีการปั้นพระพุทธรูปกันจริงๆ ตอนที่กรีกนั้นได้เข้ามาสู่อินเดีย และในกรีกนั้นก็มีการปั้นรูปปั้นต่างๆมากมายก็เลยเริ่มมีการนำการปั้นมาประยุกต์เข้ากับพุทธศิลป์ คือเอาลักษณะพระพุทธรูปที่มีการกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ที่มีลักษณะของมหาบุรุษ  32 ประการ พยัญชนะ 80 อย่าง เป็นต้น ออกมาเป็นพระพุทธรูปในยุคแรกๆ เป็นยุคพระพุทธรูปคันธาระ ศิลปะคันธาระ  ซึ่งเป็นในแถบอิทธิพลของกรีกที่มีมามาก ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาไปยังประเทศต่างๆมากมาย เข้าไปสู่ประเทศไหนก็ต่างมีการปรับลักษณะของพระพักตร์ให้คล้ายคลึงกับคนในชาตินั้นๆ ในแต่ละยุคสมัยได้รับอิทธิพลมาจากที่ใดก็จะมีการปรับลักษณะและเอกลักษณ์ให้มีความแตกต่างกันออกไป ตามที่มาที่ไปของแต่ละพื้นที่

สำหรับงานศิลปกรรมในประเภทของ จิตรกรรมฝาผนังนั้น จะมีขึ้นตามโบสถ์ วิหาร และวัดวาอารามโบราณของไทยส่วนมาก ซึ่งในภายหลังวัดที่เกิดขึ้นใหม่ๆนั้นก็ได้มีการให้จิตรกรฝีมือดีมาสร้างสรรค์พุทธศิลป์เหล่านี้เช่นกัน ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังที่มีอยู่ทั่วประเทศนั้นมักจะมีภาพที่เขียนขึ้นไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน บางแห่งก็เขียนไว้แค่เพียงบางส่วนของฝาผนังเท่านั้น แต่บางแห่งนั้นก็เขียนไว้จนเต็มฝาผนัง ตั้งในส่วนของคิ้วผนังด้านล่างไปจนถึงฝ้าเพดานเบื้องบนเลยก็มี  แม้ความมุ่งหมายเดิมที่จะทำเพียงแค่ประดับแต่กลับช่วยให้ผนังที่เรียบง่ายนั้นกลายเป็นลวดลายที่วิจิตรตระการตา เต็มไปด้วยเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ซึ่งในจิตรกรบางคนยังแอบที่จะสอดแทรกภาพสะท้อนสังคมลงไปอีกด้วย กลายเป็นฝาผนังที่ดูมีมนต์ขลังขึ้นมาเลย สำหรับภาพเขียนฝาผนังของประเทศไทยนั้นก็มีความคล้ายคลึงไปในทำนองเดียวกับศิลปะทางศาสนาของในทวีปยุโรปกลาง ในช่วงเวลาประมาณระหว่าง  พุทธศักราช 1000 -2000 ซึ่งสำหรับในความมุ่งมั่นและตั้งใจเดิมนั้นไม่เป็นเพียงแค่เพื่อความสวยงาม แต่ยังเพื่อเป็นการสั่งสอนและจูงใจศาสนิกชนอีกด้วย โดยชี้ให้เห็นจุดหมายทางจิตใจ  หรือ เตือนใจให้ระลึกไว้ว่าความประพฤติและการปฏิบัติตนของต้นแบบในภาพนั้น ย่อมจะนำมาซึ่งคุณหรือโทษในรูปแบบใด ในภายภาคหน้าหรือในภพหน้า แต่ในบางที่นั้นก็เลือกที่จะบอกเล่าเรื่องราวและพุทธประวัติ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธชาดกทั้งหลาย รวมไปถึงมีการนำ นรก สวรรค์ และโลกมนุษย์ มาถ่ายทอดในความเชื่อและความศรัทธาสู่งานวิจิตรศิลป์ ในรูปแบบของจิตรกรรมฝาผนังอีกด้วย